PopAds.net - The Best Popunder Adnetwork ปลาบึก: 2011

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ไทย-ลาวถกปัญหาระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง อนุรักษ์ปลาบึกก่อนสูญพันธุ์

ประชาไท—31 พ.ค. 2549 ไทย-ลาว ร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการถกปัญหาปลาบึกเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เนื่องมาจากระบบนิเวศน์ พร้อมจับมือร่วมกันทั้งในเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่การวางไข่ของปลาบึก และการอนุรักษ์แหล่งพันธุ์พืชที่เป็นอาหารของปลา โดยให้ชาวบ้านทั้งสองฝั่งร่วมกันดูแล


เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา โครงการรักษ์ปลาบึก รักแม่น้ำโขง นำโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย นายพุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึก นายเรียน จินะราช ผู้ใหญ่บ้านบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานโครงการได้เดินทางข้ามไปยังที่ทำการเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าเมืองห้วยทราย พร้อมคณะเกี่ยวกับความร่วมมือในเรื่องการอนุรักษ์ปลาบึกและอนุรักษ์แม่น้ำโขง นั้น


นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการนี้ ก็เพื่อใช้เป็นงานศึกษาวิจัยท้องถิ่น ช่วยเหลือชาวประมงกรณีที่เลิกจับปลาบึก โดยการจ่ายเงินชดเชยและหาอาชีพใหม่ให้ชาวประมงอยู่ได้ ซึ่งแนวคิดของเราไม่ใช่บังคับให้ชาวบ้านเลิกล่าปลาบึก แต่เป็นการหาวิธีที่จะทำอย่างไรถึงจะให้ปลาบึกไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์


ในการประชุมเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับทางเจ้าเมืองห้วยทรายและคณะ ก็เข้าใจตรงกัน และได้ข้อสรุปกันว่า สาเหตุที่ปลาบึกลดลงนั้นมาจากปัญหาระบบนิเวศน์ และได้มีการพูดคุยกันว่า น่าจะมีการศึกษาเรื่องปลาบึกกันอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่การวางไข่ของปลาบึก และการอนุรักษ์แหล่งพันธุ์พืชที่เป็นอาหารของปลา โดยให้ชาวบ้านทั้งสองฝั่งร่วมกันดูแล


กรณีที่ให้ชาวประมงหยุดล่าปลาบึกนั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า ให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ ซึ่งชาวประมงที่เลิกจับนั้นอาจเป็นเพราะหาปลาบึกจับได้ยาก และอาจไม่คุ้มต่อการลงทุนในการออกล่าในแต่ละครั้ง เพราะต้องต้องใช้ทุนสูง นอกจากนั้น เราวางแผนกันไว้ว่าควรจะมีการส่งเสริมอาชีพใหม่มารองรับให้ชาวประมงที่หยุดล่า และวางแผนกันไว้ว่าในอนาคตเราจะทำพื้นที่หาดไคร้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยจะเอาชาวประมงชาวบ้าน จากนักล่ามาเป็นผู้ให้ โดยให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชนและนักท่องเที่ยวกันต่อไป 


สำหรับผู้ที่ยังไม่เลิกล่าปลาบึกนั้น เราก็อาจให้พวกเขาเปลี่ยนจากการล่าเพื่อเป็นอาหารมาเป็นการจับปลาบึกเพื่อการศึกษา และเพื่อการวิจัย ซึ่งในขณะนี้ เครื่องมือหาปลาบึก หรือมอง มีการสำรวจพบว่า มีทั้งหมด 68 ผืน และเราได้รวบรวมเก็บไว้ที่บ้านชาวประมง ซึ่งต่อไปจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่เหลืออีก 10 ผืน ได้เอาไว้ใช้สำหรับเป็นมองกองกลาง เพื่อให้ชาวประมงได้นำไปสาธิตในการจับปลาบึกเพื่อการวิจัย


ในส่วนของทางลาว ขณะนี้กำลังทำการสำรวจเครื่องมือหาปลา และจะนำมาจัดกิจกรรมร่วมกันกับไทย โดยคาดว่าอีกสองเดือนข้างหน้า จะมีการประชุมกันอย่างเป็นทางการร่วมกับทางแขวงบ่อแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันวางแผนในการดำเนินโครงการกันต่อไป


ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้ว การอนุรักษ์ปลาบึก เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ยังรวมไปถึงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็มีความสำคัญเหมือนกัน นอกจากนั้นเราต้องร่วมกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาระบบนิเวศน์ แม้กระทั่งโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง หรือการเปิดเส้นทางเดินเรือสินค้าของจีน เพราะล้วนแต่ส่งผลกระทบทั้งสิ้น 


ดังนั้น โครงการอนุรักษ์ปลาบึก รักแม่น้ำโขง จึงเป็นเพียงการดำเนินการระยะแรก ซึ่งเราวางแผนกันไว้ 2-3 ปี หลังจากนั้นจะมีการทบทวนและหาข้อสรุปกันอีกครั้ง ว่าโครงการรักษ์ปลาบึก รักแม่น้ำโขงนี้ได้ผลหรือไม่อย่างไรผู้ประสานงานโครงการ กล่าว

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเพาะพันธุ์ปลาบึก ตอนที่ 2

 หลังจากฉีดฮอร์โมนครั้งสุดท้าย 5-9 ชั่วโมง จึงทำการรีดไข่

วิธีการรีดไข่ปลาและน้ำเชื้อ
เมื่อพบว่าแม่ปลา สามารถรีดไข่ได้ พักแม่ปลาไว้ในอวน จากนั้นตีอวนเพื่อจับพ่อปลาเพื่อรีดน้ำเชื้อ ใช้ยาสลบ(2-phenoxy ethanal 50000 ppm) พ่นบริเวณเหงือกพ่อปลา เมื่อปลาเริ่มสงบนิ่ง ใช้แปลผ้าใบหามขึ้นวางบนแท่นสำหรับรีดไข่และน้ำเชื้อ รีดน้ำเชื้อพ่อปลา เก็บรักษาไว้ในน้ำเกลือ(sodium chloride) 0.9% ในอัตราส่วน 1:1 ใส่ในหลอดทดลอง แช่ในกระติกน้ำแข็ง

เมื่อได้น้ำเชื้อแล้ว ใช้ยาสลบพ่นบริเวณเหงือกแม่ปลา เมื่อเริ่มสงบนิ่งใช้แปลผ้าใบหามแม่ปลาขึ้นวางบนที่รีดไข่ รีดไข่ใส่ในกาละมังอลูมิเนียมก้นเรียบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร


การผสมเทียมโดยวิธีแห้งดัดแปลง
(modified dry method)



เทน้ำเชื้อที่เก็บไว้ในหลอดทดลอง ลงผสมกับไข่ คนให้เข้ากันด้วยขนไก่ รินน้ำสะอาดประมาณ ¼ ของปริมาตรไข่ คนต่อในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้เซลล์อสุจิ เข้าผสมกับไข่ เทน้ำโคลน(ดินเหนียว 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 0.5 ลิตร) ลงผสมเพื่อไม่ให้ไข่เกาะตัวกัน คนให้น้ำโคลนเคลือบไข่ทุกเม็ด หลังจากนนั้นนำไปล้างให้สะอาดก่อนนำไปฟักในกรวยฟักไข่ไฟเบอร์กลาสทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร ด้านล่างโค้งมน ด้านบนเปิด ท่อระดับน้ำล้นอยู่ต่ำลงมาจากด้านบนกรวยฟักไข่ ประมาณ 5 เซนติเมตร ต่อท่อPVC 4 หุน มีวาล์วควบคุมปริมาณน้ำ ให้ส่วนปลายสุดของท่อ อยู่ภายในกรวยห่างจากพื้นด้านล่างกรวยไฟเบอร์กลาสประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำพ่นไปที่ก้นกรวยฟักไข่ แล้วย้อนขึ้นไปดันไข่ปลา ให้ไข่ปลาหมุนเวียนตลอดเวลา ส่วนของท่อน้ำล้น ต่อท่อให้น้ำไหลลงถังไฟเบอร์กลาส ขนาดความจุ 2000 ลิตร ตรงกลางถังมีกรวยผ้าโอล่อนแก้วติดตั้งไว้เพื่อกรองกันลูกปลาออก ภายในถังไฟเบอร์กลาส ใส่หัวทรายจำนวน 4-5 อัน เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ


ขอบคุณภาพจาก http://www.bothong.ac.th/Scienec22101/content-2-2-8.html
                           
                    
                            http://www.bestfish4u.com/best-fish-information.php


เนื้อหาข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่การเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่ที่เลี้ยงในบ่อดิน โดยกรมประมง

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเพาะพันธุ์ปลาบึก ตอนที่ 1

        การเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่ที่เลี้ยงในบ่อดิน ใช้วิธีการและแนวทางของคุณยงยุทธและคณะ(2544) การฉีดฮอร์โมนเพื่อทำการผสมเทียม เมื่อคัดเลือกพ่อแม่ปลาที่พร้อมฉีดฮอร์โมนแล้ว ให้พักไว้ในบ่อขนาด 1200 ตารางเมตร ขึงอวนไว้ตรงกลางบ่อเพื่อแยกบ่อออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งขังแม่ปลา อีกส่วนขังพ่อปลา การฉีดฮอร์โมนสำหรับแม่ปลา สามารถฉีดได้ 2 วิธี คือ ฉีดฮอร์โมน 2 ครั้งและฉีกฮอร์โมน 3 ครั้ง



การฉีดฮอร์โมน 2 ครั้ง
ใช้กับแม่ปลาที่มีไข่แก่เต็มที่ แม่ปลามีท้องขยายใหญ่มาก ไข่ที่นำออกมาตรวจสอบมีขนาดใหญ่สม่ำเสมอ การเคลื่อนที่ของ germinal vesicle(นิวเคลียส) พบนิวเคลียสอยู่ตรงกลาง(CGV) จำนวนน้อย และเคลื่อนออกไปชิดขอบมากกว่า 80% ไข่อยู่ในระยะ MGV และ PGV

ครั้งที่1 ฉีดด้วย Buserelin acetate(BUS) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่าซูพรีเฟค(Suprefact) ในอัตรา 10 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ร่วมกับ Domperidone(DOM) 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เว้นระยะ 8-12 ชั่วโมง

การฉีดฮอร์โมน
ครั้งที่2 ฉีดด้วย BUS ในอัตรา 20ไมโครกรัม/กิโลกรัม ร่วมกับ DOM 10มิลลิกรัม/กิโลกรัม หลังจากฉีดฮอร์โมนครั้งแรก 21-25 ชั่วโมง จึงทำการรีดไข่

การฉีดฮอร์โมน 3 ครั้ง
ใช้กับแม่ปลาที่มีขนาดไม่สม่ำเสมอ พบนิวเคลียสอยู่ตรงกลาง(CGV) เป็นส่วนใหญ่

ครั้งที่1 ฉีดด้วย human chorionic gonadotropins(HCG) 250-500 IU/KG เว้นระยะ 6-24 ชั่วโมง

ครั้งที่2 ฉีดด้วยฮอร์โมนBUS ในอัตรา 10 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ร่วมกับ DOM 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม






ขอบคุณภาพจาก http://www.aquatoyou.com/index.php?option=com_content&view=article&catid=3:2010-01-10-03-02-52&id=215:2010-02-09-12-06-08


เนื้อหาข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่การเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่ที่เลี้ยงในบ่อดิน โดยกรมประมง

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คุณภาพน้ำในบ่อพ่อแม่ปลาบึก

     คุณภาพน้ำระหว่างเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกในบ่อดิน พบว่าอุณหภูมิน้ำมีค่าอยู่ระหว่าง 21.4-32.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิอากาศมีค่าอยู่ระหว่าง 19.2-33.1 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำมีค่าอยู่ระหว่าง 1.2-5.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ความเป็นกรดเป็นด่างมีค่าอยู่ระหว่าง 6.18-8.10 ความกระด้างมีค่าอยู่ระกว่าง 32-108 มิลลิกรัมต่อลิตร ความเป็นด่างมีค่าอยู่ระหว่าง 25-91 มิลลิกรัมต่อลิตร แอมโมเนียมีค่าอยู่ระหว่าง 0.001-0.179 มิลลิกรัมต่อลิตร

ต่าพิสัยคุณสมบัติของน้ำในบ่อดินที่เลี้ยงพ่อแม่ปลาบึกตั้งแต่ มีนาคม 2551 กุมภาพันธ์ 2552 (โดยเฉลี่ย)
1.อุณหภูมิของน้ำ 21.5 - 32.6 องศาเซลเซียส
2.อุณหภูมิของอากาศ 19.2 33.1 องศาเซลเซียส
3.ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ 1.5 - 5.6 มิลลิกรัม/ลิตร
4.ความเป็นกรดเป็นด่าง 7.04 - 7.54
5.ความกระด้าง 40 - 98 มิลลิกรัม/ลิตร
6.ความเป็นด่าง 35 90 มิลลิกรัม/ลิตร
7.แอมโมเนีย 0.003 0.085 มิลลิกรัม/ลิตร 


เกณฑ์คุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำตามธรรมชาติ
1.PH : 6.5-9.0
2.อุณหภูมิของน้ำ : 25-32 องศาเซลเซียส
3.ความโปร่งแสง : 30-60 เซนติเมตร
4.DO : >3.0 mg/l
5.CO2 : 0-5 mg/l
6.Alkalinity : 100-120 mg/l
7.Hardness : 75-150 mg/l
8.NH3-N : <0.02

ที่มา : คุณสมบัติของน้ำและวิธีวิเคราะห์สำหรับการวิจัยทางการประมง, ไมตรี ดวงสวัสดิ์และ จารุวรรณ สมศิริ, 2528


ขอบคุณภาพจาก http://www.publichot.com/forums/showthread.php?t=10174


เนื้อหาข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่การเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่ที่เลี้ยงในบ่อดิน โดยกรมประมง

วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติการการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกในบ่อดิน(เกี่ยวกับอาหาร)

ประวัติการการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกในบ่อดิน(เกี่ยวกับอาหาร)

นี่อาหารปลา

อาหารสูตรต่อไปนี้ใช้เลี้ยงปลารุ่นที่ 1 ตั้งแต่ปี 2546-2549

การให้อาหารให้อาหารผสมเอง สปช 12 เสริมวิตามิน มีโปรตีนร้อยละ 32 ใน 100 กิโลหรัม ประกอบด้วยปลาป่น 56 กิโลกรัม กากถั่วเหลือง 12 กิโลกรัม รำละเอียด 12 กิโลกรัม ปลายข้าว 15 กิโลกรัม หัวอาหารแม่หมู 4 กิโลกรัม หัวอาหารเป็ดไข่ 3 กิโลกรัม หัวอาหารไก่ไข่ 3 กิโลกรัม น้ำมันตับปลา 4 กิโลกรัม และวิตามินแร่ธาตุรวม 1 กิโลกรัม ให้อาหารร้อยละ 2 ของน้ำหนักตัวปลาต่อวัน

อาหารสูตรที่ 2 มีโปรตีนร้อยละ 42 และพลังงาน 480 กิโลแคลอรี่ต่ออาหาร 100 กรัม ใน 100 กิโลกรัม ประกอบด้วยปลาป่น 45 กิโลกรัม ตับปลาหมึกป่น 10 กิโลกรัม กากถั่วเหลือง 12 กิโลกรัม แป้งสาลี 15 กิโลกรัม ยีสต์ 5 กิโลกรัม วิตามินซี 0.15 กิโลกรัม สไปรูลิน่า 1.2 กิโลกรัม น้ำมันพืช 0.5 กิโลกรัม เลซิติน 1 กิโลกรัม วิตามินซี 0.2 กิโลกรัม วิตามินแร่ธาตุรวม 0.3 กิโลกรัม น้ำมันปลา 0.5 กิโลกรัม รำละเอียด 9.15 กิโลกรัม ให้อาหารร้อยละ 1 ของน้ำหนักตัวปลาต่อวัน ให้อาหารวันละครั้ง 


ขอบคุณรูปภาพจาก http://blog.eduzones.com/pondplay/22608


เนื้อหาข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่การเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่ที่เลี้ยงในบ่อดิน โดยกรมประมง

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึก(เกี่ยวกับบ่อปลา)

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดพิษณุโลก....


          นำพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกไปเลี้ยงในบ่อขนาดประมาณ 2700 ตารางเมตร จำนวน 2 บ่อ บ่อละ 15 ตัว ก่อนปล่อยพ่อแม่ปลา ทำการเตรียมบ่อโดยสูบน้ำออกให้หมด ตากบ่อแห้ง กำจัดสิ่งสกปรก โรยปูนขาวอัตรา 60 กิโลกรัมต่อไร่  สูบน้ำเข้าบ่อผ่านถุงกรองไนล่อนเบอร์ 18 ให้ได้น้ำลึก 1.4-1.5 เมตร การเลี้ยงพ่อแม่ปลาบึกในบ่อดินควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อให้แม่ปลาและพ่อปลาพัฒนาไข่และน้ำเชื้อจนสมบูรณ์ การเลี้ยงพ่อแม่ปลาบึกในบ่อดินใช้วิธีของคุณยงยุทธและคณะ(2544) ซึ่งรายงานว่าในเดือนธันวาคม  ถึงเดือนมีนาคม เปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณร้อยละ 30 ของบ่อ สองสัปดาห์ต่อครั้ง ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เปลี่ยนถ่ายน้ำร้อยละ 50ของบ่อ สัปดาห์ละครั้ง


เนื้อหาข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่การเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่ที่เลี้ยงในบ่อดิน โดยกรมประมง

ประวัติการเพาะพันธุ์ โดยกรมประมง



          ปลาบึกซึ่งมีจำนวนไม่มาก และมีอยู่แห่งเดียวในแม่น้ำโขงเท่านั้นจึงถูกจับขึ้นมาจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงมานานแต่โบราณกาล คนไทยภาคอื่นจะรู้จักปลาบึกแต่เพียงในนามเท่านั้น
          กรมประมงมีภาระหน้าที่บำรุงพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้รับรายงานว่าปลาบึกในแม่น้ำโขงถูกจับมากและมีปริมาณลดลงทุกปี ผู้บริหารกรมประมงจึงมีนโยบายให้เริ่มศึกษาปลาบึกเพื่อหาลู่ทางในอนาคต การศึกษาปลาบึกของกรมประมงจึงเริ่มตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2510 เป็นการเริ่มต้นศึกษาปลาบึกจากความว่างเปล่าโดยนักวิชาการ
          วันที่ 6 พฤษภาคม 2526 คุณเสน่ห์ ผลประสิทธิ์ หัวหน้าสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาและคณะ ได้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกด้วยวิธีปสมเทียมจากปลาบึกในแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรกของโลก!...
          ลูกปลาบึกที่ถูกเลี้ยงไว้ในสถานประมงได้เจริญเติบโตเป็นลำดับและถูกนำมาทดสอบการเพาะพันธุ์อยู่เสมอ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จ
          ในที่สุด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2544 ปลาบึกคู่หนึ่งในบ่อเลี้ยงที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา อยู่ในวัยเจริญพันธุ์เต็มที่อายุ 17 ปี ด้วยความสามารถของคุณยงยุทธ อุนากรสวัสดิ์ หัวหน้าสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาและคณะ ได้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกด้วยวิธีผสมเทียมจากพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงไว้ในบ่อดิน พ่อแม่พันธุ์คู่นั้นให้ลูกปลาจำนวนสามแสนห้าหมื่นตัว โดยพ่อแม่ปลายังมีสุขภาพแข็งแรงและได้ปล่อยคืนสู่บ่อเลี้ยงเพื่อนำขึ้นมาเพาะพันธุ์อีกในปีหน้า
          การเพาะพันธุ์ปลาบึกจากบ่อเลี้ยงเป็นความสำเร็จที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของโลกทำให้เราสามารถอนุรักษ์ปลาบึกได้อย่างยั่งยืนไม่มีวันสูญพันธุ์ไปจากโลก เพราะลูกปลาบึกที่เพาะพันธุ์ได้จะถูกเลี้ยงให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป เพื่อนำขึ้นมาเพาะพันธุ์ให้ลูกในรุ่นต่อๆไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
          ความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกทั้งสองครั้ง เป็นผลงานที่ร่าภูมิใจในฝีมือคนไทยและเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ ทั้งในด้านการเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์และการดำรงความหลากหลายทางชีวภาพในธรรมชาติ อีกทั้งความสำเร็จนี้ยังเป็นตัวอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังในการปฏิบัติภารกิจให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม....



ที่มา : เอกสารเผยแพร่ กรมประมง เรื่องปลาบึก บันทึกเส้นทางอนุรักษ์ปลาบึก สู่ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน พ.ศ.2544


ขอบคุณภาพจาก http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000111552
                          http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=matoomy&id=34
                          http://www.moohin.com/animals/other-22.shtml             


เนื้อหาข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่การเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่ที่เลี้ยงในบ่อดิน โดยกรมประมง

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ลักษณะโดยละเอียดของปลาบึก



1.ลำตัวยาว เบนข้างเล็กน้อย สันหลังตั้งแต่ครีบหลังลาดลงจนสุดปลายจงอยปาก จงอยปากใหญ่ปลายมนกลม หัวใหญ่ยาว

2.นัยน์ตาตั้งอยู่ในระดับต่ำกว่ามุมปากและมีขนาดเล็กมาก ลูกตาเป็นอิสระไม่ติดกับของตา

3.ตอนบนหัวประมาณจุดกึ่งกลางมีจุดกลมสีขาว ขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของนัยน์ตา 1 จุด จากจุดนี้พาดไปทางด้านหลังจนไปสุดประมาณปลายช่องเปิดของกระพุ้งเหงือก

4.ปากอยู่ปลายสุดขนาดค่อนข้างใหญ่ ไม่มีฟัน มีหนวดเส้นเล็กๆ ที่ขากรรไกรบน 1 คู่ ซึ่งซ่อนอยู่ในร่องหลังมุมปาก ลักษณะของหนวดเป็นเส้นเล็กแบนมีสีแดงเรื่อ

5.บริเวณปลายจงอยปากมีรูจมูก 2 คู่ ตั้งอยู่ค่อนไปทางด้านข้างของหัว รูจมูกคู่หน้าอยู่ชิดกันมากกว่ารูจมูกคู่หลัง ช่องเปิดของเหงือกกว้างจนเลยขึ้นไปเหนือฐานครีบอก

6.จุดเริ่มต้นของครีบหลังอยู่ล้ำหน้าจุดเริ่มต้นครีบท้อง ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 2 อัน ก้านครีบแข็งอันหลังไม่เป็นเงี่ยงแข็ง(Pungent spine) และไม่หยักเป็นฟันเลื่อย ก้านครีบอ่อนมี 7 ก้าน

7.ครีบอกอยู่ค่อนข้างต่ำ มีก้านครีบแข็งใหญ่ 1 อัน แต่ปลายโค้งงอได้ ไม่แข็งเป็นเงี่ยงหรือหยักเป็นฟันเลื่อย ก้านครีบอ่อนมี 10 อัน ความยาวของครีบอกยาวเท่าหรือเกือยเท่าความยาวของครีบหลัง

8.ครีบท้องมีก้านครีบแข็ง ซึ่งโค้งงอได้ 1 อัน ก้านครีบอ่อน 7 อัน

9.ครีบก้นยาวประกอบด้วยก้านครีบแข็งที่โค้งงอได้ 5 อัน ก้านครีบอ่อน 30 อัน ครีบไขมันมีขนาดเล็กและอยู่ค่อนไปทางครีบหาง

10.สีของลำตัวทางด้านหลังมีสีเทาปนน้ำตาลแดง ด้านข้างสีเทาปนน้ำเงิน ส่วนท้องสีขาว ปริเวณข้างลำตัวประมาณสุดปลายครีบอกมีจุดสีดำกลมขนาดเล็กกว่าลูกตา 1 จุด และจุดแบบเดียวกันนี้พบกระจายกันอยู่บนครีบก้นอีก 3 จุด คือ ครีบอก ครีบหลัง ครีบไขมัน และครีบหางมีสีเทาดำ ครีบท้องและครีบก้นมีสีเทาจาง


ขอบคุณภาพจาก http://www.prontera.in.th/forums/index.php?showtopic=10596


เนื้อหาข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่การเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่ที่เลี้ยงในบ่อดิน โดยกรมประมง

อนุกรมวิธานของปลาบึก


          จากบันทึกของ Smith(1945) พบว่า ค.ศ.1904 Vaillant ได้จัดเข้าไว้ในสกุลเดียวกับปลาสวาย   คือ Pangasius และก็เป็นที่เชื่อกันเช่นนั้นเรื่อยมาจนกระทั่ง ค.ศ.1930   Dr.Pierre Chevey ได้ทำการศึกษาและสังเกตถึงข้อแตกต่างของปลาบึกกับปลาในสกุล Pangasius เขาได้ชี้แจงให้เห็นข้อแตกต่างที่สำคัญดังนี้

ปลาบึกเป็นปลาที่ไม่มีฟันทั้งบนขากรรไกรและที่เพดานปาก มีหนวดสั้นที่ขากนนไกรบน 1 คู่ และตำแหน่งของนัยน์ตาปลาบึกตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับของมุมปาก เปรียบเทียบกับปลาในสกุล Pangasius ซึ่งมีฟันทั้งบนขากรรไกรและที่เพดานปาก มีหนวด 2 คู่ คือที่ขากรรไกรบนและล่างที่ละ 1 คู่ ส่วนตำแหน่งของนัยน์ตาก็อยู่เหนือหรืออยู่ในระดับเดียวกันกับ มุมปาก” 

          ปลาบึกจึงจัดได้ชื่อวิทยาศาสตร์เป็น Pangasianodon gigas ซึ่งจัดอยู่ในพวก Pangasianodon และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปตราบจนทุกวันนี้



อนุกรมวิธานของปลาบึกถูกจัดไว้ดังนี้

Phylum : Chordata
  Class : Pisces
     Subclass : Teleostomi
        Order : Nematognathi
            Family : Schilbeidae
               Genus : Pangasianodon
                   Species : gigas
                        ปลาบึก Pangasianodon gigas (Chevey 1930)


ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=2688


เนื้อหาข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่การเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่ที่เลี้ยงในบ่อดิน โดยกรมประมง

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ข้อมูลเบื้องต้นของปลาบึก

    
        ปลาบึกเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ไม่มีเกล็ด อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง ปลาบึกไม่มีฟันและมีหนวดที่สั้นมาก โดยที่ปลาวัยอ่อนมีฟันและกินปลาอื่นเป็นอาหาร แต่เมื่อโตขึ้นฟันจะหลุดไปและตาซึ่งจะอยู่ต่ำกว่ามุมปาก เมื่อมองจากด้านหน้าตรงๆ จะไม่เห็น นั่นแสดงให้เห็นถึงการใช้หากินตามพื้นน้ำ ในธรรมชาติยังไม่มีผู้พบปลาบึกวัยอ่อน ปลาบึกพบอาศัยอยู่มากที่แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขาเท่านั้น


          อาหารของปลาบึกในธรรมชาติคือพืชชนิดต่างๆ เช่น ตะไคร่น้ำ สาหร่าย แต่เมื่อนำมาเลี้ยงก็สามารถรับอาหารชนิดอื่นได้ สามารถโตได้ถึง 3 เมตรและหนัก 150-200 กิโลกัรม ใน 5 ปี ปลาบึกที่หนักที่สุดเท่าที่เคยจับได้ยาว 2.7 เมตร และหนัก293 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่กรมประมงสามารถรีดไข่ได้สำเร็จแต่ปลาตัวนี้ก็ตายก่อนที่จะปล่อยกลับธรรมชาติ


          ปลาบึกถือเป็นอาหารที่ราคาสูง ในอดีตมีการประกอบพิธีกรรมร่วมกับการจับปลาชนิดนี้ ซึ่งมีการจับเพียงครั้งเดียวต่อปี และเนื้อปลาก็พบเห็นได้น้อยตามตลาด นอกจากเนื้อแล้ว ตับและไข่ปลาหมักเป็นอาหารรสชาติดี และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย


ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=517781


เนื้อหาข้อมูลจาก เอกสารเผยแพร่การเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่ที่เลี้ยงในบ่อดิน โดยกรมประมง