PopAds.net - The Best Popunder Adnetwork ปลาบึก: ไทย-ลาวถกปัญหาระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง อนุรักษ์ปลาบึกก่อนสูญพันธุ์

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ไทย-ลาวถกปัญหาระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง อนุรักษ์ปลาบึกก่อนสูญพันธุ์

ประชาไท—31 พ.ค. 2549 ไทย-ลาว ร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการถกปัญหาปลาบึกเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เนื่องมาจากระบบนิเวศน์ พร้อมจับมือร่วมกันทั้งในเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่การวางไข่ของปลาบึก และการอนุรักษ์แหล่งพันธุ์พืชที่เป็นอาหารของปลา โดยให้ชาวบ้านทั้งสองฝั่งร่วมกันดูแล


เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา โครงการรักษ์ปลาบึก รักแม่น้ำโขง นำโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย นายพุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึก นายเรียน จินะราช ผู้ใหญ่บ้านบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานโครงการได้เดินทางข้ามไปยังที่ทำการเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าเมืองห้วยทราย พร้อมคณะเกี่ยวกับความร่วมมือในเรื่องการอนุรักษ์ปลาบึกและอนุรักษ์แม่น้ำโขง นั้น


นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการนี้ ก็เพื่อใช้เป็นงานศึกษาวิจัยท้องถิ่น ช่วยเหลือชาวประมงกรณีที่เลิกจับปลาบึก โดยการจ่ายเงินชดเชยและหาอาชีพใหม่ให้ชาวประมงอยู่ได้ ซึ่งแนวคิดของเราไม่ใช่บังคับให้ชาวบ้านเลิกล่าปลาบึก แต่เป็นการหาวิธีที่จะทำอย่างไรถึงจะให้ปลาบึกไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์


ในการประชุมเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับทางเจ้าเมืองห้วยทรายและคณะ ก็เข้าใจตรงกัน และได้ข้อสรุปกันว่า สาเหตุที่ปลาบึกลดลงนั้นมาจากปัญหาระบบนิเวศน์ และได้มีการพูดคุยกันว่า น่าจะมีการศึกษาเรื่องปลาบึกกันอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่การวางไข่ของปลาบึก และการอนุรักษ์แหล่งพันธุ์พืชที่เป็นอาหารของปลา โดยให้ชาวบ้านทั้งสองฝั่งร่วมกันดูแล


กรณีที่ให้ชาวประมงหยุดล่าปลาบึกนั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า ให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ ซึ่งชาวประมงที่เลิกจับนั้นอาจเป็นเพราะหาปลาบึกจับได้ยาก และอาจไม่คุ้มต่อการลงทุนในการออกล่าในแต่ละครั้ง เพราะต้องต้องใช้ทุนสูง นอกจากนั้น เราวางแผนกันไว้ว่าควรจะมีการส่งเสริมอาชีพใหม่มารองรับให้ชาวประมงที่หยุดล่า และวางแผนกันไว้ว่าในอนาคตเราจะทำพื้นที่หาดไคร้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยจะเอาชาวประมงชาวบ้าน จากนักล่ามาเป็นผู้ให้ โดยให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชนและนักท่องเที่ยวกันต่อไป 


สำหรับผู้ที่ยังไม่เลิกล่าปลาบึกนั้น เราก็อาจให้พวกเขาเปลี่ยนจากการล่าเพื่อเป็นอาหารมาเป็นการจับปลาบึกเพื่อการศึกษา และเพื่อการวิจัย ซึ่งในขณะนี้ เครื่องมือหาปลาบึก หรือมอง มีการสำรวจพบว่า มีทั้งหมด 68 ผืน และเราได้รวบรวมเก็บไว้ที่บ้านชาวประมง ซึ่งต่อไปจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่เหลืออีก 10 ผืน ได้เอาไว้ใช้สำหรับเป็นมองกองกลาง เพื่อให้ชาวประมงได้นำไปสาธิตในการจับปลาบึกเพื่อการวิจัย


ในส่วนของทางลาว ขณะนี้กำลังทำการสำรวจเครื่องมือหาปลา และจะนำมาจัดกิจกรรมร่วมกันกับไทย โดยคาดว่าอีกสองเดือนข้างหน้า จะมีการประชุมกันอย่างเป็นทางการร่วมกับทางแขวงบ่อแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันวางแผนในการดำเนินโครงการกันต่อไป


ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้ว การอนุรักษ์ปลาบึก เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ยังรวมไปถึงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็มีความสำคัญเหมือนกัน นอกจากนั้นเราต้องร่วมกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาระบบนิเวศน์ แม้กระทั่งโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง หรือการเปิดเส้นทางเดินเรือสินค้าของจีน เพราะล้วนแต่ส่งผลกระทบทั้งสิ้น 


ดังนั้น โครงการอนุรักษ์ปลาบึก รักแม่น้ำโขง จึงเป็นเพียงการดำเนินการระยะแรก ซึ่งเราวางแผนกันไว้ 2-3 ปี หลังจากนั้นจะมีการทบทวนและหาข้อสรุปกันอีกครั้ง ว่าโครงการรักษ์ปลาบึก รักแม่น้ำโขงนี้ได้ผลหรือไม่อย่างไรผู้ประสานงานโครงการ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น